ลายไทย
นับได้ว่าเป็นศิลปะและวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติ เป็นที่เชิดหน้าชูตาและได้รับคำ ชื่นชมจากนานาประเทศว่าเป็นศิลปะที่วิจิตรสวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก กำเนิดขึ้นมาด้วยสติปัญญา ความคิด และฝีมือศิลปินไทยที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์มาจากธรรมชาติ เช่น ดอกบัว ใบไม้ เปลวไฟ ให้เป็นลวดลายต่างๆ จัดจังหวะได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ซึ่งดอกไม้ ใบไม้ นับว่าเป็นต้นแบบหนึ่งของลายไทยเพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นที่เคารพและชอบที่สุดของคนไทย ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าดอกไม้ ใบไม้ จะไปปรากฏเป็นลวดลายต่างๆ ใบไม้ที่พบบ่อยในลวดลายไทยได้แก่ ใบเทศ และใบพุดตาน ส่วนดอกไม้ ได้แก่ ดอกบัว ที่มักเขียนเป็นรูปดอกบัวตูมก่อนที่จะพลิกแพลงให้เป็นรูปพิสดารต่อไป ลายบัวที่ปรากฏเห็นในงานศิลปะลายไทย เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย เพราะดอกบัวเป็นดอกไม้พิเศษเป็นพันธุ์ที่มีสกุล คนไทยทั่วไปจึงถือว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ชั้นสูง เป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาด สำหรับเปลวไฟก็ถือเป็นต้นบัญญัติของลายไทยเช่นกัน ลักษณะของเปลวไฟนั้นคดโค้งไปตามกำลังลม ดังนั้นศิลปินเกิดแรงบันดาลใจจึงคิดดัดแปลงเป็นลายไทยที่งดงามกลมกลืนไปกับสิ่งต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากลายกนกเปลวต่างๆ นั่นเอง


จิตรกรรมไทย
หมายถึง ภาพเขียนที่มีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทย ที่แตกต่างจากศิลปะของชนชาติอื่นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีอิทธิพลศิลปะของชาติอื่นอยู่บ้าง แต่ก็สามารถดัดแปลง คลี่คลาย ตัดทอน หรือเพิ่มเติมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองได้อย่างสวยงาม ลงตัว น่าภาคภูมิใจ และมีวิวัฒนาการทางด้านด้านรูปแบบ
และวิธีการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต
ลายไทย เป็นส่วนประกอบของภาพเขียนไทยใช้ตกแต่งอาคาร สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ เครื่องประดับ ฯลฯ เป็นลวดลายที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันซึ่งนำเอารูปร่างจากธรรมชาติมาประกอบ เช่น ลายกนก ลายกระจัง ลายประจำยาม ลายเครือเถา เป็นต้น หรือเป็นรูปที่มาจากความเชื่อและคตินิยม เช่น รูปคน รูปเทวดา รูปสัตว์ รูปยักษ์ เป็นต้น
จิตรกรรมไทย เป็นวิจิตรศิลป์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอด
จนการแสดงการเล่มพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยและสาระอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติได้โดยทั่วไป
วิวัฒนาการของงานจิตรกรรมไทย แบ่งออกตามลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรม ที่ปรากฎในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
2. จิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย
เครดิต : https://jangdraw.wikispaces.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น